การเมืองกับยาคุม?

Rawisara
2 min readNov 13, 2021

--

สืบเนื่องมาจากประเด็นการชี้ให้เห็นถึงความผิดปกติของความปกติในการใช้ Hormonal Birth Control ของผู้หญิง จากโพสของคุณดอม ซึ่งคุณดอมได้เขียนตอบกลับเนื้อหาเกี่ยวกับการฝังยาคุมกำเนิด เขียนโดยเพจ Spectrum เราจึงขอเขียนบันทึกเกี่ยวกับความคิดเห็นของเราที่มีต่อหัวข้อนี้ลงบนแพลตฟอร์มนี้

Hormonal Birth Control 101 แบบย่อและง่ายสุด ๆ

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่าผู้หญิงท้องได้จากการที่ไข่ตก และไข่ได้รับการปฏิสนธิกับอสุจิ พอไข่ตกแล้ว จะมีฮอร์โมนตัวนึงที่สร้างผนังมดลูกให้หนา เพื่อรองรับการฝังตัวของไข่ที่ปฏิสนธิแล้ว เมื่อมีการฝังตัว ไข่ที่ปฏิสนธิแล้วจะพัฒนาเป็นตัวอ่อน

Hormonal Birth Control หรือยาคุมฮอร์โมนสังเคราะห์นั้นหลอกร่างกายว่าเรากำลังท้อง (ท้องทิพย์) ฮอร์โมนสังเคราะห์จะเข้าไปหยุดการทำงานของฮอร์โมนต่าง ๆ ที่ทำให้ไข่ตก พอร่างกายนึกว่าเราท้องแล้ว ไข่ก็เลยไม่ตก

Hormonal Birth Control มีหลายชนิดแต่ที่เป็นที่นิยมที่สุดคือแบบ Combined Pill ซึ่งมีฮอร์โมนสังเคราะห์หลัก ๆ ที่ทำหน้าที่ทั้งหลอกร่างกายทำให้ไข่ไม่ตก และยังทำให้ผนังมดลูกไม่หนาขึ้น จึงไม่เป็นมิตรต่อการฝังตัวของไข่ที่ปฏิสนธิแล้ว

Semantics of the word ยา : ยาคุม “รักษา” อะไร?

คำว่า ยา ในภาษาไทยบอกเป็นนัยว่าสิ่งนั้นใช้เพื่อ “รักษา” เป็นคำที่มีความหมายไปในบวกเมื่อใช้ในบริบทในการคุมกำเนิดหรือควบคุมกลุ่มอาการอื่น ๆ ที่เกิดจากฮอร์โมนไม่สมดุล แล้วยาคุมรักษาอะไรแน่เหรอ?

หลายคนคงเคยได้ยินว่ายาคุมรักษาสิว รักษาประจำเดือนมาไม่ปกติ อาการปวดประจำเดือน อาการก่อนมีประจำเดือน ฯลฯ แต่ถ้าเราย้อนกลับไปดูการทำงานของ Hormonal Birth Control จะเห็นได้ว่า มันไม่ได้รักษากลุ่มอาการเหล่านี้ แต่เพียงแค่กดอาการเหล่านี้ (mask) เอาไว้เท่านั้น หลาย ๆ คนจะสังเกตุตัวเองได้ว่าพอหยุดใช้ยาคุม อาการต่าง ๆ ที่ยาคุมกดไว้ก็กลับมาเหมือนเดิม เพราะฮอร์โมนที่รังไข่สร้างก่อให้เกิดกลุ่มอาการเหล่านี้ ยาคุมก็แค่ไปหยุดการทำงานของรังไข่ รังไข่ก็ไม่ได้สร้างฮอร์โมนตัวที่เป็นต้นเหตุของกลุ่มอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าว แต่นี่ไม่ใช่การรักษาปัญหาที่ต้นเหตุ กลับไปที่คำถามเดิม ตกลง “ยา”คุม รักษาอะไร

หากเป็นสมัยก่อน ต้องเรียกได้ว่ายาคุมคือการปลดแอกของเพศหญิง

เพราะผู้หญิงสามารถควบคุมร่างกายของตัวเองได้เกือบ 100%

ผู้หญิงมีทางเลือกที่จะมีความสุขทางเพศโดยไม่ต้องกังวลถึงความเสี่ยงเรื่องการตั้งครรภ์ที่นำมาสู่ปัญหาทางการงาน การเงิน ความสัมพันธ์และอีกหลายปัญหา หากตั้งครรภ์ตอนที่ยังไม่พร้อม

แต่ในปัจจุบัน เราเริ่มเห็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการใช้ Hormonal Birth Control ทำให้หลาย ๆ คนเริ่มหันกลับไปมองที่จุดเริ่มต้นว่า “ทำไมฉันถึงเลือกใช้สิ่งนี้” ซึ่งทำให้มีคำถามตามมาว่า “แล้วทำไมต้องเป็นผู้หญิงที่ต้องถูกควบคุมทางร่างกายและรับความเสี่ยงจากการใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์เข้าแทรกแซงระบบการทำงานตามธรรมชาติของผู้หญิง ในขณะที่ผู้ชายกลับไม่ต้องเผชิญปัญหานี้

เคยมีคนคิดค้นยาคุมกำเนิดสำหรับผู้ชายไหมนะ? หลายคนคงสงสัย รวมถึงเราด้วย

ประเด็นนี้นี่เองที่ทำให้ผู้หญิงหลายคนเริ่มคิดว่า “หรือนี่จะเป็นการเมือง?”

จากการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการใช้ Hormonal Birth Control ในเพศชาย ฉบับนี้เขียนไว้ว่าการทดลองต้องหยุดชะงักไปเนื่องจากผลข้างเคียงของการทดลองนั้นมีความเสี่ยงต่อกลุ่มทดลองโดยเฉพาะด้านสุขภาพจิต ซึ่งเสี่ยงต่อหลักจรรยาบรรณของการทดลอง ในขณะที่มีผู้หญิงจำนวนมากที่ให้ความเห็นจากประสบการณ์ของพวกเธอว่า Hormonal Birth Control ทำให้พวกเธอซึมเศร้า

แน่นอนว่าในสังคมชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงเหล่านี้ถูกเพิกเฉยและตราหน้าว่า “พวกเธอรู้สึกไปเอง” ผู้หญิงใช้อารมณ์เป็นใหญ่และใช้สิ่งนี้มาเป็นข้ออ้างเวลาอารมณ์แปรปรวน

คำถามคือ ตอนที่มีการทดลองการใช้ Hormonal Birth Control ในเพศหญิง เราได้คำนึงถึง “Ethical reason” ข้อนี้หรือไม่ ใครเป็นคนตัดสินใจว่า ข้อดีของ Hormonal Birth Control ต่อผู้หญิงนั้นย่อมมากกว่าข้อเสียแน่นอน เราได้มีการทำการวิจัยอย่างจริงจังและเพียงพอแล้วหรือไม่

ประสบการณ์ส่วนตัว

เราเป็นคนหนึ่งที่เคยใช้ Hornonal Birth Control

มีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่ใช้ Hormonal Birth Control เพื่อเหตุผลอื่นนอกเหนือจากการคุมกำเนิด เช่น ใช้เพื่อลดปัญหาผิว (หน้ามัน เป็นสิว จากฮอร์โมนเพศชายที่มากเกินไป) หรืออาการต่าง ๆ ที่เกิดจากฮอร์โมนที่ไม่สมดุลเช่นประจำเดือนมาไม่ปกติ ผมร่วง ขนตามร่างกายเยอะเกินไป ฯลฯ

มีความเป็นไปได้ว่าสิ่งที่อยู่ภายใต้การตัดสินใจของผู้หญิง ที่ทำให้คิดว่า เราต้องดูแลตัวเอง เราต้องคุมกำเนิดโดย Hormonal Birth Control เพราะเป็นวิธีที่ได้ผลที่สุดแล้วคือ 1. ระบอบปิตาธิปไตย (Patriarchy) และ 2. ระบอบทุนนิยม (Capitalism) ซึ่งเชื่อมโยงกับ Big Pharma ที่ขาย Hormonal Birth Control

เราใช้เวลาทั้งช่วงชีวิตวัยรุ่นของเราในการหาคำตอบว่าทำไมร่างกายเราพังขนาดนี้ และเราก็ได้คำตอบว่า Hormonal Birth Control มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ทำไมเราถึงยังเลือกใช้มัน และกลับไปใช้อีกไม่ต่ำกว่าสองรอบ ?

สำหรับตัวเราเอง เราเลือกใช้เพราะมันเพราะหมอสั่ง ประจำเดือนเราไม่เคยมาตามระยะรอบเดือนที่ทางการแพทย์เรียกว่าปกติ (ประมาณทุก 28–35 วัน) เราไปหาหมอที่ไทยและบอกว่าประจำเดือนเรามาไม่ตรง และปวดท้องประจำเดือนแบบรุนแรง เคยปวดจนเป็นลม ไม่ถึงสองนาทีที่นั่งคุย หมอก็จ่ายยาคุมให้เราเลย เราถูกทำให้เชื่อว่ายาคุม “รักษา” อาการเหล่านี้ เราพบหมอได้ไม่ถึงครึ่งชั่วโมงด้วยซ้ำ ซึ่งเราก็เข้าใจหมอ เพราะหากหาข้อมูลดูแล้ว ทางการแพทย์ใช้ Hormonal Birth Control เป็น default ในการคุมกำเนิดและการแก้ปัญหาเกี่ยวกับฮอร์โมนทั่วโลก ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย

เราไปหาหมอที่ประเทศสวีเดนเพราะเราอาศัยอยู่ที่สวีเดน โดยมีความหวังว่าหมอที่สวีเดนจะเสนอวิธีอื่นให้เรา แต่เรากลับต้องประหลาดใจที่หมอที่นี่ก็จ่าย Hormonal Birth Control เช่นเดียวกัน

ซึ่งก็ไม่น่าจะเป็นปัญหา เพราะอยู่ในการดูแลของแพทย์ สิ่งที่เป็นปัญหาเกี่ยวกับการคุมกำเนิดด้วยฮอร์โมนสังเคราะห์คือการที่ผู้หญิงส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงข้อมูลที่ครบถ้วนเกี่ยวกับ Hormonal Birth Control และในวงการแพทย์และวิชาการเองอาจจะยังโฟกัสกับงานวิจัยเกี่ยวกับ Menstrual cycle ไม่พอ

ยังมีผู้หญิงจำนวนมากที่ไม่ได้รับรู้เกี่ยวกับผลกระทบหรือถูกแจ้งให้ทราบเกี่ยวกับผลกระทบของ Hormonal Birth Control อย่างรอบด้าน เช่นเราเมื่อ 3 ปีที่แล้ว

เราไม่ได้ใช้ Hormonal Birth Control เพื่อการคุมกำเนิด แต่เพื่อควบคุมปัญหาที่เกิดจากฮอร์โมนเพศ โดยไม่ได้รับรู้ถึงกระบวนวิถีที่ยาคุมเข้าแทรกแซงระบบฮอร์โมน ตามธรรมชาติของร่างกาย และไม่ได้รับรู้ว่ายาคุมนั้นไม่ได้รักษาอาการประจำเดือนมาไม่ปกติ แต่ด้วยว่า ยา ที่กล่าวไว้ในข้างต้น จึงทำให้คนเชื่อว่ามันทำหน้าที่รักษา นอกเหนือไปกว่านั้น การใข้ยาคุมกำเนิด ทำให้เราเพิกเฉยต่อสาเหตุที่แท้จริง (underlying issues) ว่าทำไมเราจึงมีกลุ่มอาการที่ไม่พึงประสงค์จากการมีประจำเดือน และนี่คือประสบการณ์ของเราที่มีต่อ Hormonal Birth Control

หัวใจหลักที่เราเขียนบันทึกนี้ไม่ใช่การออกมาแบนยาคุมหรือรณรงค์ให้ใครที่ใช้อยู่หยุดใช้ เราแค่ต้องการสร้าง Awareness และ Curiosity ให้ผู้หญิงหาข้อมูลและตระหนักถึงบริบทและปัจจัยอื่น ๆ เกี่ยวกับยาคุม เพื่อที่ตัวเองจะได้ Make informed decisions ในการเลือกเอาอะไรสักอย่างเข้าร่างกายตัวเอง สร้างความเข้าใจว่าสิ่งนี้ส่งผลอะไรกับร่างกายเราบ้าง เมื่อรู้แล้วเรารับความเสี่ยงได้นี้ไหม

ถ้าอยากหาข้อมูลเพิ่มเติม

เราอ่านหนังสือของ Dr. Brighten : Beyond The Pill คือมันก็จะมีการขายของ ขาย Supplements ของผู้เขียนบ้างต้องเตือนไว้ก่อน ขอให้ใช้วิจารณญาณในการเลือกรับข้อมูล จริง ๆ แล้วมีข้อมูลเยอะมาก แต่ไม่ค่อยมีภาษาไทยเลยค่ะ

Beyond the pill

Podcast : Are You Menstrual?

Podcast : Fertility Friday

--

--

Rawisara

I’m on a journey to tame my ego through writing something online. Very counter-productive indeed!